เดี๋ยวนี้จะทำอะไรต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในเรื่องของสื่อสังคมออนไลน์ การจะโพสต์ข้อความรวมถึงการแสดงความคิดเห็นก็ต้องใช้วิจารณญาณเพิ่มมากขึ้น ยิ่งตอนนี้เรามี พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่มีบทลงโทษของการกระทำผิด ที่ทุกคนควรรู้ และคิดให้ถี่ถ้วนก่อนค่อยแชร์โพสต์รวมทั้งแสดงความคิดเห็น มีอะไรบ้าง อ่านรายละเอียดได้ดังนี้
หลายคนอาจสงสัยว่า กด Like ก็ผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ด้วยเหรอ ความจริงแล้วการกด Like ไม่ถือเป็นความผิด นอกเสียจากว่า ไปกด Like ข้อมูลปลอม ข้อมูลอันเป็นเท็จ ไม่เป็นความจริง หลอกลวง ที่มีผลทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น ประชาชน ความมั่นคงของประเทศได้ เช่น ข้อมูลที่ผลกระทบต่อสังคม ความมั่นคงของชาติ และหากเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ อาจจะเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี
การกด Share ข้อมูลปลอม ข้อมูลอันเป็นเท็จ ไม่เป็นความจริง หลอกลวง ที่มีผลทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น ประชาชน ความมั่นคงของประเทศได้ เช่น ข้อมูลที่มีผลกระทบต่อสังคม ความมั่นคงของชาติ และหากเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ อาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี
หน้าที่ของแอดมินเพจต่าง ๆ คือต้องสอดส่องดูแลความเรียบร้อย ตลอดจน monitor ความคิดเห็นของลูกเพจ ไม่ให้ไปในเชิงลบ และขัดต่อกฎหมาย หากลูกเพจแสดงความคิดเห็นที่ผิดต่อกฎหมาย แอดมินมีหน้าที่ลบจากพื้นที่ หากไม่ลบหรือซ่อนข้อความนั้นจะถือว่ามีความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เช่นกัน ทั้งนี้ หากเข้าลักษณะเป็นความผิดมาตรา 14 โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
เป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่า สิ่งลามกอนาจารไม่ควรโพสต์ หรือเผยแพร่ด้วยประการทั้งปวง ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายและไม่ควรกระทำ และเป็นความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ หากเข้าลักษณะเป็นความผิดมาตรา 14 โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
การโพสต์รูปเด็กหรือเยาวชน โดยไม่ได้รับความยิมยอมหรือไม่ได้ขออนุญาต ต้องมีการปิดบังหน้า นอกจากจะเป็นการยกย่อง เชิดชู ความดีงาม ถึงจะสามารถกระทำการโพสต์ได้ ทั้งนี้ หากเข้าลักษณะเป็นความผิด มาตรา 14 (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงถึง 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
การด่าทอผู้อื่นซึ่งหน้าก็ถือว่าเป็นความผิดแล้ว แต่หากโพสต์ด่าว่าผู้อื่นโดยข้อมูลนั้นเป็นเท็จ ก็มีโทษ หากเข้าลักษณะเป็นความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท ฉะนั้นควรสะกดกลั้นอารมณ์แล้วอย่าไปลงกับสื่อโซเชียล มิเช่นนั้นอาจโดนทั้งจำ ทั้งปรับ
ห้ามโพสต์ภาพผู้ที่เสียชีวิต รวมไปถึงให้ข้อมูลเรื่องการเสียชีวิต ยิ่งเป็นโพสต์ดูหมิ่น หรือแสดงความเกลียดชัง ไม่ว่าจะเป็นญาติ คนสนิท หรือแม้แต่บุคคลที่มีชื่อเสียง หากเข้าลักษณะเป็นความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท
การจะเอาอะไรของใครไปใช้ ต้องมีการขออนุญาตและให้เครดิตก่อนทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่น เช่นเดียวกับโลกออนไลน์ การจะโพสต์ Quote ข้อความ เพลง รูปภาพ วิดีโอใด ๆ ต้องบอกแหล่งที่มา ให้เครดิต หรือขออนุญาติเจ้าของก่อน มิฉะนั้นหากเข้าลักษณะเป็นความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีความผิด มีโทษจำคุกสูงถึง 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
หากเป็นการส่งให้เพื่อน หรือญาติสนิทมิตรสหายดู อาจเพื่อความบันเทิง หรือเพื่อเป็นความรู้สามารถส่งรูปภาพได้ แต่หากเป็นการแชร์ภาพ หรือนำรูปภาพไปใช้เพื่อการพาณิชย์ หรือสร้างรายได้ ต้องขออนุญาตและทำให้ถูกต้องก่อน มิฉะนั้นอาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ หากเข้าลักษณะเป็นความผิด มาตรา 14 (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงถึง 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
ก่อนจะมีบทลงโทษที่ชัดเจนออกมา เราได้เห็นการฝากร้านใต้โพสต์ของผู้มีชื่อเสียง และดารามากมาย แต่ตอนนี้ไม่สามารถทำได้แล้ว หากไม่ได้รับอนุญาต เพราะการฝากร้านในโซเชียลมีเดีย ถือเป็นสแปมและรบกวนผู้อื่น มีโทษปรับสูงสุด 200,000 บาท ฉะนั้นต้องตรวจสอบให้ดีก่อนค่อยฝากร้าน
มาตรา 11 ประกาศว่า“ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นอันมีลักษณะเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับสามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้โดยง่าย ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท”
หลายคนน่าจะเคยได้รับข้อความ SMS โฆษณาจากแบรนด์ต่าง ๆ ซึ่งต้องได้รับความยินยอมให้รับข่าวสาร โฆษณาจากเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์ ก่อนถึงจะกระทำได้ มิฉะนั้นอาจถือว่ามีความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และอาจถือว่าเป็นสแปม ปรับสูงสุด 200,000 บาท
การนินทาคนอื่นลงในไลน์กลุ่ม อาจเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่ 3 โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 การโพสต์เฟสบุคด่าคนอื่น,ประจานเมียน้อย,ประจานลูกหนี้,ทวงถามหนี้ลูกหนี้ผ่านทางเฟสบุค ระบุชื่อ-นามสกุล ลงรูป โดยมีลักษณะเป็นการเผยแพร่ข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทออกไปยังสาธารณชน หรือประชาชนทั่ว เป็นความผิดอาญา ฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา
กรณีพบว่ามีการแสดงความคิดเห็นที่ผิดกฎหมาย เช่น แสดงความคิดเห็นในเว็บไซต์ต่าง ๆ รวมไปถึงเฟซบุ๊ก ในระบบเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรา จากบุคคลอื่นทำไว้ ที่ไม่ใช่เจ้าของเครื่องคอมพิวเตอร์ เราสามารถแจ้งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ เมื่อแจ้งแล้ว ลบข้อมูลดังกล่าวออก เจ้าของเครื่องคอมพิวเตอร์จะไม่มีความผิด
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีวัตถุประสงค์หลัก ๆ เพื่อควบคุม ผู้ที่ชอบก่อกวนหรือเหล่านักเลงคีย์บอร์ดทั้งหลาย ฉะนั้นไม่จำเป็นต้องหวาดระแวงหรือหวาดกลัว จนไม่กล้าโพสต์ภาพหรือข้อความปกตินะครับ ยังสามารถทำได้ เพียงแต่ต้องใช้วิจารณญาณเพิ่มขึ้นเท่านั้นเอง
ข้อมูลจาก
เว็บไซต์ komchadluek
เว็บไซต์ antifakenews
เว็บไซต์ sbpolice.go.th